วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2558

ระบบการขนส่งแบบ Milk Run

เป็นรูปแบบการจัดการงานขนส่ง ที่มุ่งให้เกิดการขนส่งชิ้นงานในปริมาณน้อยแต่หลายเที่ยวอย่างคุ้มค่า แนวคิดดังกล่าวเกิดจากระบบส่งนมในสหรัฐอเมริกา ซึ่งไปจอดตามบ้านลูกค้าแต่ละหลัง โดยลูกค้าจะนำขวดนมเปล่ามาวางไว้หน้าบ้านตามจำนวนที่ต้องการ จากนั้นรถรับส่งจะทำการเก็บขวดนมเปล่ากลับไปและส่งขวดนมใหม่ให้กับลูกค้าซึ่งจะเป็นเช่นนี้ในทุก ๆ เช้า
ระบบการขนส่งแบบ Milk Run ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนระบบการผลิตแบบ Just In Time (JIT) ช่วยลดต้นทุนและลดปริมาณสินค้าคงคลัง โดยโรงงานจะจัดรถขนส่งในการวิ่งออกไปรับวัสดุจาก Supplier แต่ละรายตามเส้นทางที่จัดไว้ พร้อมทั้งทำการนัดหมายเวลาในการรับวัสดุ เมื่อรถขนส่งรับของจาก Supplier ครบทุกรายในเส้นทางที่จัดไว้แล้ว ก็จะเดินทางกลับเข้ามาที่โรงงานเพื่อส่งมอบวัสดุเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป
ประโยชน์ที่ได้รับจาก Milk run
1. ลดต้นทุนโดยรวมการขนส่ง การที่ Supplier แต่ละรายต้องจัดส่งวัสดุมาให้โรงงาน ทำให้ Supplier แต่ละรายต้องจัดหายานพาหนะในการขนส่ง เป็นการเพิ่มต้นทุนการขนส่งเข้าไปในสินค้า
2. ลดความยุ่งยากในการตรวจรับ การที่ Supplier แต่ละรายต่างก็มาส่งสินค้าให้โรงงาน ทำให้แผนกรับสินค้า ต้องทำการตรวจรับสินค้าวันละหลายครั้ง Milk Run จึงช่วยลดปัญหานี้ได้
3. กำหนดช่วงเวลาที่จะได้รับของได้เนื่องจากทางโรงงานเป็นผู้กำหนดเส้นทางรับวัสดุ และช่วงเวลารับวัสดุจาก Supplier จึงทำให้สามารถคำนวณเวลารับของได้ สามารถวางแผนการผลิต การปรับตั้งเครื่องจักรเพื่อรอผลิตได้
4. ลดปัญหาจราจรบริเวณหน้าโรงงานการที่ Supplier แต่ละรายต้องจัดส่งวัสดุมาให้โรงงาน ทำให้ทางโรงงานต้องจัดเตรียมที่จอดรถ ยามรักษาการณ์ และอาจเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรบริเวณโรงงานอีกด้วย
การนำแนวความคิด Milk Run ไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จนั้น มีองค์ประกอบหลัก ๆ อยู่ 3 ประการ คือ
1. การจัดเตรียมบุคลากร บุคลากรที่ใช้เพื่อการจัดส่งแบบ Milk Run สามารถแบ่งได้สองส่วน คือ ส่วนวางแผนและส่วนปฏิบัติการ โดยทั้งสองกลุ่มจะมีรูปแบบของงานที่ต่างกัน แต่ต้องมีการติดต่อสื่อสารถึงกันอยู่เสมอ
2. การออกแบบบรรจุภัณฑ์ ก่อนที่จะมีการนำแนวความคิดนี้มาใช้ ผู้จัดส่งแต่ละรายใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีลักษณะและขนาดต่าง ๆ กันออกไป ความแตกต่างของบรรจุภัณฑ์เหล่านี้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อระบบการขนส่งแบบ Milk Run ซึ่งถ้าไม่มีระเบียบปฏิบัติในการดำเนินงานมาตรฐานของการบรรจุภัณฑ์ของกลุ่มผู้จัดส่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการขนส่งไม่เป็นไปตามที่กำหนด

3. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ ในการขนส่งแบบ Milk Run ได้มีการนำเทคโนโลยีและระบบต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการสั่งซื้อสินค้าไปยังผู้จัดส่งทำให้ข้อมูลมีความแม่นยำและรวดเร็วขึ้น ระบบต่าง ๆ เหล่านี้มีการเชื่อมต่อและเกี่ยวข้องกัน เช่น ระบบ EDI (Electronic Data Interchange) เพื่อเป็นการส่งถ่ายข้อมูลระหว่างบริษัทผู้ผลิต และ Supplier ในแต่ละราย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Lean Supply Chain by TMB

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น